กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ เปิดประชุม รมต.ศธ.เอเชีย-แปซิฟิก

กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ เปิดประชุม รมต.ศธ.เอเชีย-แปซิฟิก

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานพิธีเปิดการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 ครั้งที่ 2 (APREMC-II ) ระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายน

โดยมี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.และผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.เฝ้าฯ รับเสด็จ

ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสเปิดการประชุม ใจความว่า ขอชื่นชมผู้จัดงานครั้งนี้ ซึ่งเป็นเวทีหารือความท้าทาย และลำดับความสำคัญสำหรับการจัดการศึกษาภายหลังยุคโควิด-19 เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 ของภูมิภาค เศรษฐกิจดิจิทัล สังคมผู้สูงวัย และช่องว่างทางการเรียนรู้

เป็นแนวโน้มโลก ที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของภูมิภาค จึงจำเป็นต้องจัดเตรียมวาระการศึกษา และสร้างโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้มาซึ่งความรู้ และทักษะ ค่านิยม และทัศนคติ อันจะนำไปสู่การสร้างสังคมที่แข็งแกร่ง และยั่งยืนต่อไป

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสต่อว่า นอกจากนี้ ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ควรต้องวางมาตรการจัดการกับปัญหาที่เกิดจากวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางการศึกษา ในแง่ของการลดโอกาสทางการศึกษาของกลุ่มผู้เรียน เยาวชน และผู้ใหญ่ ที่มีความเปราะบางมากที่สุด และให้มั่นใจว่าผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ในสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัย และสุขภาวะที่ดี

ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานได้อย่างมีประสิทธิภาพ บทบาทของครูจึงสำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง รวมถึง การส่งเสริมสุขภาพทางจิตใจ และความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียน ตลอดจนการจัดฝึกอบรมครู เพื่อให้มั่นใจว่าครูจะได้รับทักษะ และองค์ความรู้ที่เหมาะสมต่อการจัดรูปแบบการเรียนรู้แบบผสมผสานแนวใหม่

กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ เปิดประชุม รมต.ศธ.เอเชีย-แปซิฟิก

“ขอชื่นชมความพยายามของยูเนสโก ต่อการเสริมสร้างระบบการศึกษา ที่ยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองต่อสภาพการเรียนรู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดนิ่ง รวมทั้ง การขับเคลื่อนทรัพยากรทางการศึกษา เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบการศึกษาทั่วโลก ทั้งนี้ มีความปรีดียิ่งในการทำงานร่วมกับยูเนสโก และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือเด็กทุกคนให้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษย์ขั้นพื้นฐานในเรื่องของสิทธิการเข้าถึงการศึกษา รวมถึง สิทธิทางโภชนาการ และการดูแลสุขภาพ เชื่อมั่นว่ารัฐมนตรี และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านการศึกษา จะทำงานร่วมกัน และนำไปสู่การเจรจาที่เกิดผล อันจะนำไปสู่การดำเนินความร่วมมือทางการศึกษาในอนาคตต่อไป” พระราชดำรัส สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ด้าน น.ส.ตรีนุช กล่าวภายหลังว่า การประชุม APREMC-II ครั้งนี้ ศธ.เป็นเจ้าภาพร่วมกับสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ โดยการสนับสนุนจาก UNICEF East Asia and Pacific Regional Office (UNICEF EAPRO) UNICEF Regional Office for South Asia (UNISEF ROSA) กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ประเทศญี่ปุ่น และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

โดยจะเชิญผู้แทนระดับรัฐมนตรี หรือเทียบเท่าจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จำนวน 46 ประเทศ รวมทั้ง ผู้แทนจากหน่วยงานภายใต้สหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาสังคม เยาวชน ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเชิงนโยบาย โดยเฉพาะประเด็นปัญหา แนวปฏิบัติ และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องในการฟื้นฟู และเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษา และวิกฤตการเรียนรู้ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

“การประชุมนี้ มีเป้าหมายร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยทุกประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เห็นพ้องว่าเราต้องทำงานร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษา เพราะในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด ทำให้การศึกษาหยุดชะงัก ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจว่าระบบการศึกษา จะได้รับการปรับรูปแบบ เพื่อให้เข้ากับสภาวการณ์ในยุคหลังโควิด-19 และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 ทุกประเทศในภูมิภาคจะมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมกับทบทวนใหม่ว่า จะทำอย่างไรที่จะพัฒนาการศึกษาให้ได้ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 ในระดับภูมิภาค ตลอดจนการฟื้นฟูการเรียนรู้ และปรังปรุงผลการเรียนรู้สำหรับทุกคน ในการนี้ จะจัดทำแถลงการณ์กรุงเทพฯ ปี 2022 ด้วย” น.ส.ตรีนุช กล่าว

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ siamdatahost.com

ufa slot

Releated